พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงอรอนงค์ ปิยนาฏวชิรพัทธ์ เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในพิธีตักบาตร บวงสรวง และเปิดโครงการ “มรดกโลก มรดกธรรม”
วันนี้ (๖ พฤษภาคม ๒๕๖๘) เวลา ๐๖.๒๙ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลตรีหญิง ท่านผู้หญิงอรอนงค์ ปิยนาฏวชิรพัทธ์ เป็นผู้แทนพระองค์ ไปในพิธีตักบาตร บวงสรวง และเปิดโครงการ “มรดกโลก มรดกธรรม” ณ วัดวรเชษฐาราม และวัดโลกยสุธาราม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในการนี้ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ องค์ประธานอำนวยการโครงการส่งเสริมการจัดการมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือ “โครงการมรดกโลก มรดกธรรม” ได้มอบหมายให้พระเดชพระคุณพระธรรมวชิราจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา และ พระเดชพระคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และเจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม เลขานุการโครงการมรดกโลก มรดกธรรม ได้ดำเนินการจัดเตรียมงานเปิดโครงการ และกล่าวรายงานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโครงการฯ รวมทั้งมอบของที่ระลึกให้แก่ท่านผู้หญิงอรอนงค์ (พระเครื่อง หนังสือประวัติถนนเจริญกรุง หนังสือเส้นทางสู่เซน และหนังสือการจัดการมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา)
สำหรับโครงการมรดกโลก มรดกธรรม เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการจัดการมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา และสนองพระดำริของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่มุ่งเน้นการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานและวัดสำคัญในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและในประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศลในโอกาสมหามงคลครบ ๗๒ พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
โครงการฯ มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์มรดกธรรมควบคู่กับมรดกโลก โดยใช้หลักการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะรากฐานทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชดำรัสในอดีตของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเน้นย้ำถึงคุณค่าของโบราณสถานและโบราณวัตถุว่าเป็นสมบัติของชาติที่ควรอนุรักษ์อย่างจริงจัง
สำหรับประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งด้านวัฒนธรรมลำดับต้นๆ ของโลก โดยมีแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมถึง ๕ แห่ง ซึ่ง ๔ แห่งมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด เช่น เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และยังมีแหล่งโบราณคดีและย่านเมืองเก่าอีก ๗ แห่ง เช่น นครพนม เชียงใหม่ สงขลา พระบรมธาตุนครศรี วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็นต้น โครงการนี้จึงมุ่งส่งเสริมให้การจัดการวัฒนธรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่อยู่ในความดูแลของรัฐ หากยังเปิดโอกาสให้ชุมชน โดยเฉพาะคณะสงฆ์ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
https://www.dailynews.co.th/news/4682396/
https://www.banmuang.co.th/news/education/428332